เมื่อยังรัก กู้ร่วมซื้อบ้าน พอเลิกกัน ภาระหนี้ที่มี จะทำยังไงดี?

การกู้ร่วมซื้อบ้าน กับแฟน สามี ภรรยา หรือ คนรัก เป็นการสร้างความมั่นคง หรือ สร้างภาระระยะยาว? อันนี้ต้องมาพิจารณากันให้ดีๆนะครับ ผมมีข้อมูลประกอบการพิจารณา ประมาณนี้นะครับ การกู้ร่วม เพื่อหวังที่จะสร้างครอบครัว แต่สุดท้าย ปัญหาจะเกิดขึ้น ถ้า ในช่วงที่กู้ร่วม ความรักยังหวานชื่น แต่เมื่อเลิกรากัน ไม่คุยกัน ไม่มองหน้ากัน ต่างคนต่างไม่อยากรับผิดชอบหนี้ ที่ทั้งคู่ร่วมกู้กันมา ปัญหาเกิดแน่นอนครับ

เมื่อคู่รักตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว บ้านถือเป็นปัจจัยแรกๆ ที่จะวางแผนซื้อร่วมกัน เพื่อสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์มากขึ้น เมื่อเลือกบ้านที่ถูกใจได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งการกู้ร่วม ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยสามารถศึกษารายละเอียดของการกู้ร่วมได้ดังนี้ 

ข้อมูลการหย่าร้าง ของคู่สมรส อีกปัจจัยหนึ่ง ที่ต้องนำมาพิจารณาในการกู้ร่วม

ข้อมูลกรมการปกครองเผยว่า ในปี 2564 มีสถิติการหย่าร้างถึง 110,942 คู่ คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่ง (46%) ของยอดจดทะเบียนสมรสใหม่ 240,979 คู่เลยทีเดียว

หลักเกณฑ์ ในการกู้ร่วม คุณสมบัติของคนกู้ และความสัมพันธ์

การกู้ร่วม คือ การร่วมเซ็นสัญญายื่นกู้ซื้อทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน โดยผู้กู้ร่วมต้องเป็น คู่สมรส พ่อแม่ พี่น้อง หรือ ญาติ ตามเงื่อนไขที่ธนาคารนั้นกำหนด กู้ร่วมกันเพื่อแสดงให้ธนาคารเห็นว่าผู้ร่วมรับภาระหนี้มีความสามารถทางการเงินเพียงพอที่จะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ ซึ่งมีข้อดีกว่าการยื่นกู้ซื้อคนเดียว เนื่องจากมีการกระจายความเสี่ยง มีความน่าเชื่อถือ มีโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น และอาจจะได้วงเงินอนุมัติสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นด้วย การกู้ร่วมส่วนใหญ่เกือบทุกธนาคารจะสามารถกู้ร่วมกันได้ ไม่เกิน 3 คน

คุณสมบัติหลัก ๆ ของผู้ที่สามารถเป็นผู้กู้ร่วมได้นั้น จะต้องเป็นสายโลหิตเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์ในเครือญาติ หรือเป็นครอบครัวเดียวกับผู้กู้หลัก เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก เครือญาติ หรือคู่สมรส หากเป็นพี่น้องที่ใช้คนละนามสกุล ก็สามารถกู้ร่วมกันได้ แต่ต้องนำหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม เช่น ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรที่แสดงให้เห็นว่ามีพ่อแม่เดียวกัน โดยผู้กู้ร่วมจำเป็นต้องมีคุณสมบัติ ตามที่สถาบันการเงิน/ธนาคารกำหนด เช่นเดียวกับผู้กู้หลัก คือ มีความสามารถในการชำระหนี้ ไม่มีภาระหนี้มากเกินไป และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้

สำหรับคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงานนั้น จะไม่สามารถยื่นเรื่องกู้ร่วมได้ ยกเว้นว่า มีการหมั้น และเตรียมพร้อมที่จะแต่งงาน ส่วนกรณีคู่รักที่แต่งงานแล้ว แต่ไม่ได้จดทะเบียนจะสามารถกู้ร่วมได้ โดยแสดงหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ เช่น ภาพถ่ายวันแต่งงาน หรือใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ ที่ระบุว่า อยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียน หรือหากมีบุตรร่วมกันให้แสดงใบเกิดที่ระบุชื่อพ่อแม่ หรือใช้สำเนาทะเบียนบ้าน ที่ระบุชื่อของคู่สมรส ที่แสดงว่าปัจจุบันอยู่ด้วยกัน ซึ่งรายละเอียดของเอกสารเหล่านี้ อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับนโยบายพิจารณาการให้สินเชื่อของแต่ละธนาคารด้วยเช่นกัน

กรรมสิทธิ์ ของบ้านที่กู้ร่วม ใครมีกรรมสิทธิ์ บ้าง?

เมื่อกู้ร่วมกันแล้ว กรรมสิทธิ์ในบ้านนั้น ถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของผู้กู้ทั้งหมด หรืออาจจะตกลงยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กู้รายใดรายหนึ่งก็ย่อมได้ แต่สำหรับการรับผิดชอบในการชำระหนี้นั้น ถือว่ามีภาระผูกพันในการรับผิดชอบหนี้ร่วมกันของผู้กู้ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนเรื่องกรรมสิทธิ์ ว่าจะให้ตกเป็นของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และวางแผนเรื่องการเงินในการผ่อนชำระด้วย เพื่อไม่ให้ผู้กู้รายใดรายหนึ่งต้องแบกรับภาระที่มากเกินไป จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง

สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการกู้ร่วมซื้อบ้าน

ปกติแล้วผู้ที่ซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียมจะสามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับธนาคาร มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท หากการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนั้นเป็นการกู้ร่วม ดอกเบี้ยที่จะนำไปหักลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ แม้ว่าผู้กู้หลักจะเป็นผู้ผ่อนแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม เช่น หากกู้ร่วมกันสองคนและจ่ายดอกเบี้ยทั้งปี 100,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 50,000 บาท โดยผู้กู้ร่วมไม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพียงผู้เดียว หรือเลือกใช้สิทธิลดหย่อนมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้

เมื่อความรัก เปลี่ยนเป็นการเลิกรา ไม่พูด ไม่มองหน้ากัน แต่มีการกู้ร่วมกันไปแล้ว จะถอนชื่อออกอย่างไร

ขอถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วม อันดับแรกคือผู้กู้ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงไกล่เกลี่ยกันให้ได้ก่อนว่า ใครจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของบ้านหลังนี้ พร้อมทั้งตกลงว่าจะจัดการเงินที่ผ่อนชำระไปแล้วอย่างไร เพื่อไม่ให้มีฝ่ายใดเสียเปรียบ เพื่อให้อีกฝ่ายยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอม ก็จะไม่สามารถถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้ เมื่อเจรจากันเรียบร้อย การดำเนินการจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

– คู่รักที่จดทะเบียนสมรส แล้วเลิกรากัน ต้องจดทะเบียนหย่าให้เรียบร้อย เพื่อนำใบหย่า และสัญญาจะซื้อจะขายไปขอถอนชื่อคู่รักออกจากสัญญากู้ที่ทำไว้กับธนาคาร เพื่อให้ธนาคารเปลี่ยนรูปแบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสัญญาเงินกู้ใหม่ หากเป็นการกู้ร่วมหลังจดทะเบียนสมรสกันแล้ว บ้านหลังนั้นจะถือเป็น “สินสมรส” ซึ่งจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมจากกรมที่ดิน
– ส่วนคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและเลิกรากันนั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งสองฝ่ายว่า ใครจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์ที่กู้ร่วมกัน โดยสามารถไปแจ้งถอดถอนชื่อออกกับธนาคารที่ทำสัญญากู้ไว้ พร้อมแจ้งต่อธนาคารว่าต้องการให้ใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมการโอนเปลี่ยนชื่อกรรมสิทธิ์ประมาณ 5% ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เมื่อ หย่า หรือ เลิกรากัน เราจะถอนชื่อออก หากธนาคารไม่ยอม ต้องทำอย่างไร

หากถึงที่สุดแล้ว เกิดมีปัญหาที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคู่รักสิ้นสุดลง และมีความกังวลเรื่องภาระผูกพันจากการกู้ร่วมนั้น ก็ยังพอมีทางออกโดยสามารถขอถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้ โดยสามารถติดต่อทางธนาคารถึงเงื่อนไขต่างๆได้ แต่ทั้งนี้ทางธนาคารมีสิทธิไม่อนุมัติให้ถอดถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้ เนื่องจากต้องพิจารณาความสามารถของการผ่อนชำระหนี้ของผู้กู้ที่เหลืออยู่ ว่าสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ อาจจะต้องหาผู้มากู้ร่วมใหม่ เช่น พ่อแม่ ญาติ แทนผู้กู้ร่วมคนเดิม นอกจากนี้ยังมีวิธีการรีไฟแนนซ์ คือเป็นการยื่นกู้ใหม่กับธนาคารใหม่ แต่ใช้ชื่อผู้กู้เพียงคนเดียว ซึ่งธนาคารก็จะตรวจสอบเอกสารและพิจารณาสินเชื่อใหม่ทั้งหมด ซึ่งหากทางธนาคารไม่อนุมัติ ทางออกสุดท้ายคืออาจจะตกลงขายบ้านนั้น ซึ่งถือว่าเป็นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ต้องรับภาระผ่อนอีกต่อไป

การกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย มีข้อดีในการเพิ่มโอกาสการซื้อให้ง่ายขึ้น เพื่อสร้างครอบครัวให้สมบูรณ์มากขึ้น แต่ทั้งนี้การวางแผนในอนาคตก็เป็นเรื่องสำคัญ หากมีปัญหากระทบถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้วนั้น จะได้มีทางออกในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้การเป็นภาระผูกพันในอนาคตได้


แก้หนี้ สร้างหนี้ เราจัดการให้
ติดต่อ LineID : @antonio

ติดตามคลิปดีๆ ในแวดวงการเงิน การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ได้ที่ Youtube

และติดตามผมต่อได้ที่ Facebook/AntonioAttorney.Company

สนใจให้ผมเป็นที่ปรึกษาการเงินส่วนตัว คลิกเลยครับ

ดูคลิปพิเศษจาก Antonio https://bit.ly/3wqjila

ติดต่อ ผมที่ email : antonioattorney@gmail.com หรือ LineID : @antonioattorney

ที่ปรึกษาสำหรับ ผู้ประกอบการ SME แก้หนี้ หรือ ขอกู้เงิน สินเชื่อ คลิกเลยครับ Antonio SME

แก้หนี้

Leave a Reply