หนี้เสีย NPL ประเทศไทย มีทางออกแล้ว “สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้”

ลูกหนี้ทั่วประเทศ เฝ้ารอคอยมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้ 23 มีนาคม 2564 มีมติ ครม. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อไม่ให้หนี้เสีย NPL ลุกลามไปมากกว่านี้ จนกระทั่ง ต้องมีการเทขายทรัพย์หลักประกันออกมาในตลาด ในราคาถูกๆ อีกทั้งยังมีสินเชื่อเพื่อช่วยผู้ประกอบการ smes ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

มาตรการใหม่ มีทั้งช่วยผู้ประกอบการ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบ ที่เรียกว่า สินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักชําระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ อีกหนึ่งรูปแบบ ที่เรียกว่า พักทรัพย์ พักหนี้ มาทำความเข้าใจในรายละเอียดกันครับ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (มาตรการฟื้นฟูฯ) วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก

ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท และ 2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท พร้อมกับมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท

สินเชื่อฟื้นฟู

เน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 แต่ยังมีศักยภาพ โดยเป็นการปลดล็อกประเด็นต่าง ๆ 4-5 ประเด็น ในพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) เดิม เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น ประกอบด้วย

1.ขยายขอบเขตลูกหนี้ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและลูกหนี้รายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

2.ขยายระยะผ่อนชำระให้ยาวขึ้น จากเดิม พ.ร.ก.ซอฟต์โลนเดิม กำหนดอายุโครงการไว้ 2 ปี โดยรัฐค้ำประกันสินเชื่อให้ 2 ปี แต่ของใหม่จะขยายอายุโครงการเป็น 5 ปี และ ค้ำประกันสินเชื่อนาน 10 ปี

3.ปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้น

4.กำหนดดอกเบี้ยให้เหมาะสม ให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการยิ่งขึ้น

ผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ภาครัฐยังสนับสนุนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุด 40% ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี

และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ตลอดสัญญาได้ รวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ธปท. สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเพื่อให้เกิดการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังกลุ่มเป้าหมาย

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือ 0.01% เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ กำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดี แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจ 2 ประเภทนี้ คือ

Soft loan

– ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 หรือ ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564 แล้ว แต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท

– ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 ก.ย. 2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธปท.

พักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) วงเงิน 1 แสนล้านบาท

เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญามาตรฐานที่กำหนด อาทิ

โกดังเก็บหนี้

– ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนเป็นลำดับแรกในราคาต้นทุน ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เท่ากับราคาตีโอนบวกด้วยต้นทุนการถือครองทรัพย์ (carrying cost) 1% ต่อปีของราคาตีโอน และต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์ตามที่จ่ายจริงและสมควรแก่เหตุ

– ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอเช่าทรัพย์กลับมาดูแลหรือเปิดดำเนินการ และสถาบันการเงินจะนำค่าเช่าที่ได้รับไปหักออกจากราคาที่ขายคืนทรัพย์ให้กับลูกหนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ (fire sale) สามารถกลับมาสร้างงาน และ ทำรายได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

ทั้งนี้ ธปท. จะให้การสนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเท่ากับมูลค่าทรัพย์ที่สถาบันการเงินและลูกหนี้แต่ละรายตกลงร่วมกัน และภาครัฐสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

อาทิ ภาษีและค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์ ทั้งขารับโอนและขายคืนให้กับลูกหนี้รายเดิม โดย ธปท.จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นสภาพคล่องให้ลูกหนี้ที่เข้าพักทรัพย์ พักหนี้ และดำเนินธุรกิจต่อ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี

ขณะที่กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน

ด้านกระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

โดยทั้ง 2 มาตรการ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้รองรับความเสี่ยงและสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยครอบคลุมตรงจุดมากขึ้น และระยะยาวขึ้นตามสถานการณ์ฟื้นตัวที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งกำหนดระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี แต่ ครม.สามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และ ครม.สามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้

ครับ สุดท้าย ไม่ว่ากระทรวงการคลัง แบงค์ชาติ จะพยายามคิดค้นมาตรการช่วยเหลือหรือ ฟื้นฟู ผู้ประกอบการ ที่เป็นหนี้เสีย NPL หรือยังไม่เป็นหนี้เสีย จากประสบการณ์ผมที่ลงพื้นที่จริง อยู่หน้างานจริง บอกได้เลยครับว่า สินเชื่อฟื้นฟู โครงการโกดังเก็บหนี้ ชื่อเรียกใหม่ที่เรียกว่า พักทรัพย์ พักหนี้ เอาเข้าจริงๆแล้ว ถ้าธนาคารพาณิชย์เจ้าหนี้ทั้งหลาย ไม่ร่วมด้วยช่วยกัน มันก็เป็นเพียงแค่โครงการธรรมดาธรรมดา ที่ไม่ได้กระตุ้นหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการ smes แต่ก็หวังว่าความคาดหวังหรือความคิดเห็นผมคงจะผิด เอาใจช่วยผู้ประกอบการ smes หรือ ธุรกิจ ผู้ประกอบการรายใหญ่นะครับ

แก้หนี้ สร้างหนี้ เราจัดการให้
ติดต่อ LineID : @antonio

ติดตามคลิปดีๆ ในแวดวงการเงิน การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ได้ที่ Youtube

และติดตามผมต่อได้ที่ Facebook/AntonioAttorney.Company

สนใจให้ผมเป็นที่ปรึกษาการเงินส่วนตัว คลิกเลยครับ

ติดต่อ ผมที่ email : antonioattorney@gmail.com หรือ LineID : @antonioattorney

ที่ปรึกษาสำหรับ ผู้ประกอบการ SME แก้หนี้ หรือ ขอกู้เงิน สินเชื่อ คลิกเลยครับ Antonio SME

แก้หนี้

Leave a Reply