การโอนให้อสังหาริมทรัพย์ โดยเสน่หา คืออะไร

“ลูกเนรคุณ” ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีข่าวคราว ในลักษณะใกล้เคียงกัน คือพ่อแม่ ได้โอนทรัพย์สินที่มีอยู่ ให้กับลูก แบบโอนให้โดยเสน่หา สุดท้าย ลูกกลับเนรคุณพ่อแม่ มาดูกันครับว่าเราจะมีทางแก้ และจัดการกับไอ้ลูกเนรคุณเหล่านี้อย่างไร

จากประเด็นที่เป็นกระแสอย่างหนัก ถึงเรื่องพ่อโอนที่ดินให้แก่ลูก และต่อมาภายหลัง ลูกมีการฟ้องขับไล่พ่อออกจากที่ดินดังกล่าวนั้น โดยประเด็นนี้ สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงพฤติกรรมของลูกว่าสมควรหรือไม่ แต่ก็มีอีกฝ่ายที่มองว่า การให้ที่ดินนั้น เมื่อมีการโอนสมบูรณ์แล้ว กรรมสิทธิ์จึงตกไปเป็นของลูก ตามกฎหมายลูกสามารถฟ้องขับไล่ได้ ถือว่าเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันระหว่างศีลธรรมกับข้อกฎหมายอย่างกว้างขวาง

การให้โดยเสน่หา คืออะไร สามารถเพิกถอนการให้ได้หรือไม่

การให้หรือการโอนให้โดยเสน่หา คือผู้ให้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนเหมือนในลักษณะของการซื้อขาย การให้นั้นจะให้ทรัพย์สินอะไรก็ได้ เงิน ทอง บ้าน รถยนต์ เป็นต้น

การให้มีกฎหมายบัญญัติเงื่อนไขไว้ด้วย คือเป็นสัญญาที่ซึ่งผู้ให้ ได้โอนทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้อื่นเป็นผู้รับโดยเสน่หาโดยผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้ ซึ่งการให้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินนั้น โดยหากการให้ทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ สามารถส่งมอบกันในความเป็นจริงและมีผลสมบูรณ์ได้เลยทันที เนื่องจากกฎหมายกำหนดเพียง “ส่งมอบ” ก็สมบูรณ์แล้ว

และหากการให้ทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษนั้นตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้อง “ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน” จึงจะสมบูรณ์ อ้างอิงตามมาตรา 521,523,525 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ซึ่งตามประเด็นของพ่อที่โอนที่ดินให้แก่ลูกตามข่าว คือ พ่อมีการโอนที่ดินให้ลูกจริง และได้ทำการโอนโฉนดที่ดินเป็นชื่อลูกแล้ว ซึ่งหากพิจารณาตามกฎหมายข้างต้น ประเด็นดังกล่าวจะเห็นว่า การให้สมบูรณ์และกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นของลูกแล้ว ตามที่กฎหมายกำหนด และภายหลังที่ลูกมีการฟ้องขับไล่ตามสิทธิ์จึงสามารถทำได้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีนี้ถือว่าลูกเนรคุณต่อพ่อหรือไม่ และพ่อต้องการที่จะเพิกถอนการให้ที่ดินดังกล่าวจะทำได้หรือไม่อย่างไร

เข้าข่าย ลูกเนรคุณ สามารถร้องขอคืนทรัพย์ที่โอนให้ได้

การถอนคืนการให้ ตามกฎหมายสามารถทำได้ ในกรณีที่สืบได้ว่าผู้รับการให้ ได้ทำการประพฤติเนรคุณกับผู้ให้ ผู้ให้ก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องเพิกถอนการให้ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่ทราบเหตุแห่งการประพฤติเนรคุณ แต่ไม่เกิน 10 ปี ภายหลังเหตุการณ์ประพฤติเนรคุณนั้น

โดยเงื่อนไขของเหตุแห่งการประพฤติเนรคุณสามารถพิจารณาได้ 3 กรณี ได้แก่
กรณีแรก ผู้รับได้ทำการประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญาร้ายแรง หรือ
กรณีที่สอง ผู้รับได้ทำให้ ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
กรณีที่สาม ผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ อ้างอิงตามมาตรา 531 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อย่างไรก็ดีหากผู้รับได้ประพฤติเนรคุณผู้ให้ก็ตาม แต่ถ้าเป็นการให้โดยเข้าเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ กฎหมายระบุว่าไม่สามารถถอนคืนการให้ได้
1.การให้บำเหน็จสินจ้างโดยแท้
2.การให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
3.ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
4.ให้ในการสมรส อ้างอิงตามมาตรา 535 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ดังนั้นจากข้อเท็จจริงข้างต้น แม้การให้โดยเสน่หาจะสมบูรณ์แล้ว หากพ่อจะถอนคืนการให้ที่ดินกับลูก จึงต้องพิจารณาตามข้อกฎหมายข้างต้นว่า เข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หรือเข้าข้อยกเว้นการถอนคืนข้อใดหรือไม่ จากข้อเท็จจริงทางสังคมแล้ว ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า อาจจะถอนคืนการให้ได้จากกรณีที่สอง ที่ผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หากตามสืบได้ว่า การที่ลูกกล่าวว่า ได้นำเงินไปไถ่ถอนที่ดินคืนมาเอง พ่อไม่ได้เป็นคนนำเงินไปไถ่ถอนที่ดิน ซึ่งทำให้เป็นการชี้ให้สังคมเห็นว่า พ่อโกหก เนื่องจากพ่อได้แจ้งว่า ได้ยืมเงินลูกเพียง 1 แสนบาทมาไถ่ถอนที่ดิน และได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ลูกไปแล้ว อาจจะเรียกได้ว่ากรณีนี้ ทำให้พ่อเสียงชื่อเสียง หรือ หมิ่นประมาทพ่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ รวมถึงหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่พ่อแจ้ง ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถถอนคืนการให้ในข้อที่2 คือการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน

โดยข้อควรระวังคือ ต้องฟ้องถอนคืนการให้ภายใน 6 เดือน นับแต่ทราบเหตุแห่งการประพฤติเนรคุณ คือ นับจากที่ลูกทำให้เสียชื่อเสียง แต่ไม่เกิน 10 ปีนับจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ยังถือว่าอยู่ในอายุความที่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ โดยสามารถยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ ตามหลักเขตอำนาจศาล

ปัจจุบัน เราจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆถึงเรื่องโอนอสังหาฯ ด้วยการให้โดยเสน่หา ไม่ว่าจะเป็นแฟนให้แฟน พ่อให้ลูก แต่สุดท้ายก็มักจะมีการฟ้องร้อง ไล่พ่อออกจากบ้าน ที่พ่อยกให้ หรือแฟนฟ้องเอาของคืนที่ให้ในตอนที่เป็นแฟนกัน ดังนั้นผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน หากเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้


แก้หนี้ สร้างหนี้ เราจัดการให้
ติดต่อ LineID : @antonio

ติดตามคลิปดีๆ ในแวดวงการเงิน การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ได้ที่ Youtube

และติดตามผมต่อได้ที่ Facebook/AntonioAttorney.Company

สนใจให้ผมเป็นที่ปรึกษาการเงินส่วนตัว คลิกเลยครับ

ดูคลิปพิเศษจาก Antonio https://bit.ly/3wqjila

ติดต่อ ผมที่ email : antonioattorney@gmail.com หรือ LineID : @antonioattorney

ที่ปรึกษาสำหรับ ผู้ประกอบการ SME แก้หนี้ หรือ ขอกู้เงิน สินเชื่อ คลิกเลยครับ Antonio SME

แก้หนี้

Leave a Reply