ฟื้นฟูกิจการ ไม่ใช่กิจการล้มละลาย มันแตกต่างกันครับ

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า “การฟื้นฟูกิจการ” ไม่ใช่ “การล้มละลาย” หรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ 

เพียงแต่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย จึงอาจทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่าการยื่นขอฟื้นฟูกิจการคือการยื่นขอล้มละลาย

  •  การล้มละลาย คืออะไร ?

“การล้มละลาย” คือ การที่กิจการหรือลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้บุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หนี้นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท)

เมื่อลูกหนี้ถูกฟ้องคดี ศาลจะทำการพิจารณาสืบพยานหลักฐานว่าลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงตามคำฟ้องหรือไม่ หากว่าจริง ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้

“คำสั่งพิทักษ์เด็ดขาด” คือ การที่ศาลให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ควบคุมกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ กล่าวคือ ลูกหนี้ไม่สิทธิกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตนได้เลย ยกเว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้ว จะเข้าสู่คดีล้มละลาย ทั้งนี้ ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที แต่จะส่งหมายแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ เพื่อให้ดำเนินการจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้เพื่อจัดสรรให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้

ส่วนกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากจนไม่เพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป

  • ทำความรู้จัก “การฟื้นฟูกิจการ”

ตามกฎหมายการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้/ลูกหนี้ ปี 2541 ระบุว่าผู้ที่มีสิทธิ์ในขอฟื้นฟูกิจการได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้

– ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว 
– ลูกหนี้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดบริษัทมหาชนหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
– จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
– ลูกหนี้มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและมีเหตุอันสมควร (ต้องไม่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
– ยื่นคำขอโดยสุจริต

มีการเพิ่มเงื่อนไขในการยื่นฟื้นฟูกิจการสำหรับบุคคลธรรมดา มีหนี้สินเกิน 2 ล้านบาท

สำหรับบริษัทและนิติบุคคลอื่น มีหนี้สินเกิน 3 ล้านบาท ก็สามารถยื่นฟื้นฟูกิจการได้ครับ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ 2 ใน 3 และยื่นเป็นเอกสารยืนยันในวันยื่นทำแผนต่อศาลล้มละลาย ซึ่งจะแตกต่างกับบริษัทที่มีหนี้สินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ครับ

โดย หากผลของคำสั่งศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะได้รับสภาวะพักการชำระหนี้ (automatic stay) ในกรณีศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการผู้บริหารแผนจะดำเนินการตามแผนระยะเวลาตามแผน 5 ปีขอขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

หัวใจสำคัญของ “การฟื้นฟูกิจการ” คือ เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

“สภาวะการพักการชำระหนี้” นี้เอง ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการไปต่อได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง สภาวะการพักการชำระหนี้

หากกล่าวให้เห็นภาพ เสมือนหนึ่งธุรกิจหรือกิจการจะอยู่ภายใต้ร่มคันใหญ่ที่จะป้องกันการถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ถูกบังคับชำระหนี้ ถูกงดให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ประโยชน์ข้างต้นที่ลูกหนี้จะได้รับ ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้อาศัยการพักชำระหนี้เป็นเหตุของการประวิงคดี ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาล จะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด” (He who comes to equity must come with clean hands)

สำหรับหน้าที่ของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างไรนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ลูกหนี้จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

แต่ กรณีที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผน และศาลไม่เห็นชอบด้วยแผน อาจสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ หรือหากลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายไว้ให้ไปดำเนินคดีล้มละลายนั้นต่อไป ในกรณีที่ผู้บริหารแผนพ้นตำแหน่ง และไม่อาจเลือกผู้บริหารแผนคนใหม่ได้ ศาลอาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ส่วนกรณีระยะเวลาตามแผนสิ้นสุดแต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่สำเร็จ ศาลอาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

  • สรุปแล้ว การฟื้นฟูกิจการ VS การล้มลาย ต่างกันอย่างไร

กล่าวโดยสรุปคือ “การฟื้นฟูกิจการ” ถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจ ได้ตามปกติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ รวมถึงจะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ

ในขณะที่ “การล้มละลายหรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์” นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

Antonio Attorney ที่ปรึกษาด้านการเงิน และกฎหมาย บริษัทของเรา รับดำเนินการยื่นฟื้นฟูกิจการ และเป็นตัวแทนในการเจรจาเพื่อแก้ไขหนี้และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับท่านเจ้าของธุรกิจ ที่ธุรกิจเริ่มมีปัญหา ติดต่อเราครับ เราพร้อมที่จะเดินเคียงข้าง เพื่อสู้กับเจ้าหนี้ไปกับคุณครับ

ติดตามคลิปดีๆ ในแวดวงการเงิน การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ได้ที่ YouTube

และติดตามผมต่อได้ที่ facebook/AntonioAttorney

สนใจให้ผมเป็นที่ปรึกษาการเงินส่วนตัว คลิกเลยครับ

ติดต่อ ผมที่ email : antonioattorney@gmail.com หรือ LineID : @antonioattorney

Leave a Reply