ทำไม การบินไทยต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ ทั้งศาลไทย และศาลสหรัฐอเมริกา

อย่างที่เรารู้กันอยู่นะครับตอนนี้ ว่า การบินไทย สายการบินแห่งชาติของประเทศไทย ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายของประเทศไทย การยื่นฟื้นฟูกิจการ ผมขอสรุปสั้นๆ คือ เมื่อศาลรับคำร้อง เจ้าหนี้ทุกรายจะต้องหยุดนิ่ง คือพูดง่ายๆคืออยู่เฉยๆ ห้ามทวงหนี้ ห้ามบังคับคดี ห้ามฟ้อง ที่ฟ้องไปแล้วก็ให้หยุด ภาษาชาวบ้านก็จะประมาณนี้

หลังจากนั้น ศาลก็จะมาพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ ถ้ารับคำร้อง ก็ต้องมาดูว่าการบินไทยจะจ่ายหนี้คืนเจ้าหนี้อย่างไร ก็ต้องมาประชุมปรึกษาหารือกันระหว่างลูกหนี้ เจ้าหนี้ และศาล เนื้อหาสาระก็จะเป็นประมาณนี้นะครับ

ทีนี้มาดูกันว่าทำไม การบินไทยต้องฟ้องทั้งในศาลไทย และศาลที่สหรัฐอเมริกา ผมสรุปสั้นๆ ก่อนที่จะไปดูเนื้อหารายละเอียดกันนะครับว่า การบินไทยมีทรัพย์สินคือเครื่องบิน ซึ่งเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากต่างประเทศ ทรัพย์สินคือเครื่องบินเรียกว่าสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเจ้าหนี้ต่างประเทศสามารถยึดได้หากอยู่นอกราชอาณาจักรไทย พอเริ่มเข้าใจกันบ้างนะครับ ที่นี่ไปดูรายละเอียดกันดีกว่า ว่า การยื่นฟื้นฟูกิจการในศาลไทยกับสหรัฐอเมริกา แตกต่างกันอย่างไร

กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ของไทยและสหรัฐอเมริกา

1. คำถาม: ทำไมการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้ในประเทศไทยจึงอาจไม่เพียงพอต่อการระงับการบังคับชำระหนี้จากเจ้าหนี้?

เจ้าหนี้จะเป็นเจ้าหนี้ไทยหรือเจ้าหนี้ต่างประเทศยังสามารถดำเนินการฟ้องร้องและหรือบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ไทยที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศได้ เพราะผลตามกฎหมายไทยไม่ได้มีผลคุ้มครองไปถึงทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ

แต่เจ้าหนี้ในไทยจะต้องหยุดตามคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาตามมาตรา 90/9 จะเกิดสภาวะพักการชำระหนี้หรือสภาวะหยุดนิ่ง (automatic stay หรือ moratorium)

2. คำถาม: บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยไปยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่?

คำตอบคือได้ หลักการของอเมริกาคือ หากลูกหนี้ มีทรัพย์สินอยู่ในสหรัฐอเมริกา และมีหนี้สิน สามารถร้องขอยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลสหรัฐอเมริกาได้ คำว่าทรัพย์สินคือคุณแค่มีเงินฝากก็ถือเป็นทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาแล้ว มาดูรายละเอียดให้หายกันครับ

คำตอบ: เงื่อนไขในการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้คำนึงถึงสัญชาติของลูกหนี้ คงพิจารณาจากจุดเกาะเกี่ยวหรือจุดเกี่ยวพันกับประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ลูกหนี้พักอาศัยหรือมีภูมิลำเนาหรือมีสถานประกอบธุรกิจหรือมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา (US Bankruptcy Code) มาตรา 109 ซึ่งประเด็นจุดเกาะเกี่ยวเรื่องทรัพย์สิน ในคดีที่ผ่านๆ มา ศาลสหรัฐอเมริกาแปลความอย่างกว้างว่า แค่มีเงินในบัญชีเงินฝากที่สหรัฐอเมริกาก็ถือว่า มีทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาแล้ว เพราะฉะนั้น หากบริษัทลูกหนี้มีทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้ แต่หากไม่มี ก็สามารถเปิดบัญชีเงินฝากและฝากเงิน ก็ถือว่ามีจุดเกาะเกี่ยวเรื่องทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา และสามารถยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกา

3. คำถาม: การยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกาสำคัญอย่างไร?

คำตอบ: การยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกาก็จะเกิดสภาวะพักการชำระหนี้แก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก การที่จะก่อให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้แก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ในประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐอเมริกา ต้องใช้กระบวนพิจารณาในส่วนที่เรียกว่า การล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการข้ามชาติ ในหมวด 15 (Chapter 15) ซึ่งกระบวนการเริ่มจากผู้จัดการทรัพย์สินหรือตัวแทนของคดีฟื้นฟูกิจการที่สหรัฐอเมริกาไปยื่นคำร้องขอให้ประเทศต่างๆ ที่บริษัทลูกหนี้มีทรัพย์สินตั้งอยู่รับรองว่ามีกระบวนการฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาแล้ว ขอให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ในประเทศนั้นๆ ด้วย เหตุที่ผู้จัดการทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกาสามารถกระทำดังกล่าวได้เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกามีการอนุวัติกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการล้มละลายข้ามชาติของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL) เป็นกฎหมายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ศาลของประเทศผู้ถูกร้องขอจะรับรองกระบวนการฟื้นฟูกิจการในสหรัฐอเมริกาและก่อให้เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ตามที่ผู้แทนจากสหรัฐอเมริการ้องขอหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับกฎหมายล้มละลายภายในประเทศนั้นๆ ด้วย

แท้จริงแล้ว หากหวังผลเฉพาะในส่วนบทบัญญัติเรื่องการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการข้ามชาติ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องไปยื่นที่สหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีประเทศหรือรัฐกว่า 40 ประเทศ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายล้มละลายของตนเองให้มีในส่วนของการล้มละลายหรือฟื้นฟูกิจการข้ามชาติด้วย เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น

อนึ่ง ในส่วนของประเทศไทยยังไม่มีการอนุมัติกฎหมายล้มละลายข้ามชาติเข้าเป็นกฎหมายภายใน แม้คณะรัฐมนตรีจะรับหลักการในเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2559 แล้วก็ตาม

4. สรุปกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามหมวด 11 แห่งกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา (Chapter 11 Reorganization of the US Bankruptcy Code)

4.1 การเริ่มกระบวนพิจารณา: โดยการยื่นคำร้องขอโดยลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอก็ได้ คดีส่วนใหญ่ลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอ

4.2 หากลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำร้องขอจะเป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 301 ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ว่าลูกหนี้ต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ ขอเพียงแค่ลูกหนี้มีหนี้ และไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องจำนวนหนี้ขั้นต่ำ หมายความว่ามีหนี้เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ลูกหนี้ที่ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการมักมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้หรือมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน เพราะเงื่อนไขข้อหนึ่งในการที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่คือ การที่ผู้ร้องขอต้องยื่นคำร้องขอโดยสุจริตตามมาตรา 1129 (a)(3)

4.3 คดีเริ่มต้นเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ ผลประการหนึ่งคือ จะเกิด an order for relief (ถ้าแปลตรงตัวจะแปลว่า คำสั่งที่ช่วยบรรเทาลูกหนี้จากภาระหนี้ที่มีทั้งหมด หากแปลเทียบเคียงกับกฎหมายไทยคือ คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ) ผลอีกประการหนึ่งคือ เกิดสภาวะพักการชำระหนี้ตามมาตรา 362 ซึ่งมีเนื้อหาเทียบเคียงได้กับมาตรา 90/12 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ)

4.4. การยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอจะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการมาพร้อมคำร้องขอก็ได้ ตามมาตรา 1121(a) ซึ่งกรณีนี้จะช่วยให้กระบวนการเร็วขึ้น หรือผู้ร้องขอจะค่อยมาจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายหลังคดีเริ่มต้นแล้วก็ได้ โดยกฎหมายให้โอกาสลูกหนี้เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูก่อนในช่วง 120 วันแรกนับจากวันเริ่มต้นคดี ตามมาตรา 1121 (b) ภายหลังจากนั้น หากลูกหนี้ยังไม่ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นๆ โดยส่วนใหญ่คือ เจ้าหนี้ มีสิทธิที่จะยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาได้

4.5 หลักเกณฑ์ที่ศาลใช้พิจารณาว่าจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ เป็นไปตามมาตรา 1129 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ เจ้าหนี้แต่ละกลุ่มยอมรับแผนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 1126 เจ้าหนี้แต่ละรายได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสัดส่วนที่จะได้รับชำระหนี้หากลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย การยื่นคำร้องขอเป็นไปโดยสุจริต ภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วลูกหนี้มีแนวโน้มที่จะไม่ล้มละลายหรือไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอีกเว้นแต่เป็นกรณีที่ระบุไว้ในแผน เป็นต้น

ข้อสังเกตเกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการตามแผนตามมาตรา 1123 คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นระยะเวลาเท่าใด แล้วแต่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตกลงกัน แต่ตามกฎหมายไทยตามมาตรา 90/42 (9) กำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนไว้ไม่เกิน 5 ปี ระยะเวลาดำเนินการตามแผนขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ตามมาตรา 90/63 วรรคสอง อนึ่ง ระยะเวลาชำระหนี้จริงอาจยาวกว่าระยะเวลาดำเนินการตามแผนได้ ระยะเวลาดำเนินการตามแผนคือ ระยะเวลาที่บริษัทลูกหนี้ต้องบริหารกิจการภายใต้การกำกับของศาลล้มละลายกลางและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สังกัดสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

4.6 เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามมาตรา 1129 ถือเป็นวันที่คดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดไปจากศาลเลย เพราะลูกหนี้จะหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามมาตรา 1141 (d)(1)(A) โดยบริษัทลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องผูกมัดตามแผนและลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ระบุไว้ในแผนนอกศาล 

ตรงนี้เป็นจุดที่เป็นประโยชน์อีกจุดหนึ่งของการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องจากระยะเวลาภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะสั้นกว่าของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากตามกฎหมายไทย   เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว บริษัทลูกหนี้ยังต้องดำเนินการตามแผนภายในระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่มีการขยาย ให้แล้วเสร็จหรือไม่แล้วเสร็จ เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/75 จึงทำให้คดีฟื้นฟูกิจการสิ้นสุดลง.

ครับก็ถือว่าเป็นเนื้อหาสาระที่ดี ผมก็ถอดข้อความเหล่านี้มาจาก บทความของ ดร.กนก จุลมนต์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา และรองเลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายเนติบัณฑิตยสภา ค่อยๆ อ่านทำความเข้าใจกันนะครับ

ติดตามคลิปดีๆ ในแวดวงการเงิน การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ได้ที่ YouTube

และติดตามผมต่อได้ที่ facebook/AntonioAttorney

สนใจให้ผมเป็นที่ปรึกษาการเงินส่วนตัว คลิกเลยครับ

ติดต่อ ผมที่ email : antonioattorney@gmail.com หรือ LineID : @antonioattorney

Leave a Reply